วัฒนธรรมการปลูกและดื่มชา มีมานานไม่ต่ำกว่า 4,000 ปี ประวัติศาสตร์เล่าขานกันว่า การดื่มชา ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศจีน โดย จักรพรรดิเสินหนิง (Shen Nung) ที่กำลังต้มน้ำอยู่ใต้ต้นชา และสายลมที่พัดผ่านทำให้ใบชาตกลงไปในกาต้มน้ำโดยบังเอิญ เกิดเป็นเครื่องดื่มรสชาติถูกปาก จนพัฒนาต่อมากลายเป็น วรรณกรรมชาคลาสสิกฉาชิง (Cha Ching) ที่เป็นตำราเกี่ยวกับการปลูกชา การผลิต วิธีการดื่มและชงชาในประวัติศาสตร์เล่มแรกของโลก

ชาในประวัติศาสตร์จีน
ต้องใช้เวลากว่า 3,000 ปี ตั้งแต่การค้นพบครั้งแรก กว่าชาจะกลายเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายในประเทศจีน โดยส่วนใหญ่ใช้ดื่มเพื่อสรรพคุณทางยา บันทึกทางประวัติศาสตร์เล่าว่า เริ่มมีการเก็บภาษีชาเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง และเริ่มมีการแปรรูปชาด้วยการอบไอน้ำและตากแห้งครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หมิง ชาที่ผ่านกระบวนการตากแห้ง หรือ “ชาดำ” มักถูกขายเพื่อส่งออก ขณะที่ชาวจีนยังคงวัฒนธรรมดื่มชาสด หรือ “ชาเขียว” ตามวิธีดั้งเดิมแต่โบราณ

ชาในประวัติศาสตร์ยุโรป
ชาวดัทช์เป็นชาติแรกที่ริเริ่มความนิยมจิบชาในยุโรป โดยเริ่มขนส่งชาไปยังพื้นทวีปในช่วงทศวรรษ 1610 ก่อนจะแพร่หลายไปสู่อังกฤษในทศวรรษ 1650 และแพร่หลายจนกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในที่สุด ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมามีการิเริ่มเขียนตำราการดื่มชาในฐานะวัฒนธรรมของชนชั้นสูงของราชวงศ์และขุนนางอังกฤษ

พื้นที่ปลูกชาในประเทศต่างๆ
แม้ว่าชาจะถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศจีน แต่ประเทศผู้ผลิตชารายใหญ่ไม่ได้มีแค่จีนประเทศเดียว ราวปี 1191 นักบวชนิกายเซนได้นำเมล็ดชาจากจีนเข้ามาปลูกในญี่ปุ่น และเริ่มมีการเก็บเกี่ยวและดื่มชากันในเกาะทางใต้ของแดนอาทิตย์อุทัย นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบชาในรัฐอัสสัมของอินเดีย ที่เริ่มนำมาจำหน่ายครั้งแรกในอังกฤษเมื่อปี 1839 การล่าอาณานิคมยังทำให้การปลูกชาเริ่มแพร่หลายไปทั้วโลก โดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้นำชาไปปลูกที่เมืองเคปในทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรกในปี 1687 ก่อนขยายไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น เคนยา มาลาวี และแทนซาเนีย

เครื่องดื่มที่เป็นชนวนแห่งอิสรภาพ
การเก็บภาษีชาของเจ้าอาณานิคมอังกฤษยังเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาติอาณานิคมในทวีปอเมริกาในศตวรรษที่ 17 โดยในเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อว่า “Boston Tea Party” กลุ่ม Sons of Liberty หรือผู้ปลดปล่อยอเมริกาได้แอบขโมยชาไปจากเรือขนส่งถึง 342 หีบ ทำให้เจ้าอาณานิคมลงดาบด้วยการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองในอาณานิคม จนนำไปสู่ความไม่พอใจ และการทำสงครามประกาศอิสระภาพในเวลาต่อมา

ประวัติของชาในประเทศไทย
หลักฐานจากจดหมายของลาลูแบร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์บ่งชี้ว่า คนไทยรู้จักการดื่มน้ำชากันมานานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน และนิยมเสิร์ฟน้ำชาในการต้อนรับแขก ด้วยวิธีเดียวกับการชงชาในประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบต้นชาป่าพันธุ์อัสสัมอายุหลายร้อยปี ที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ชาวบ้านขนานนามว่าเป็น “ต้นชาพันปี” ทำให้พบว่าต้นชามีอยู่ในไทยมานานแล้วในแถบที่ราบสูงทางตอนเหนือของประเทศ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ลำปาง และตาก

ประเภทของชาที่นิยมดื่มกันในปัจจุบัน
ชา หรือ เครื่องดื่มที่ทำจากต้นคาเมลเลีย ซิเนนซิส (Camellia Sinensis) ในปัจจุบันมีความหลากหลายมากกว่า 3,000 ประเภท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ วิธีการเก็บและกระบวนการแปรรูป โดยชาที่นิยมดื่มกันอย่างแพร่หลายมี 5 ประเภท ได้แก่

1) ชาขาว (White Tea)
เป็นชาที่ผลิตจากยอดชาอ่อนที่มีขนบาง ๆ สีขาวปกคลุ่ม หลังเก็บเกี่ยวแล้วจะนำมาตากแดดหรือตากลมให้แห้งอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาความสดใหม่ ใบชามีกลิ่มหอมอ่อน ๆ สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น จึงมีราคาแพง

2) ชาเขียว (Green Tea)
ผลิตจากยอดชาอ่อนสีเขียว และนำมาอบไอน้ำเพื่อคงความสดใหม่ กระบวนการผลิตชาเขียวแบบจีนและญี่ปุ่นมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันชาเขียวได้รับความนิยมมากจากสรรพคุณด้านสุขภาพ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสเกิดมะเร็ง ลดระดับคลอเลสเตอรอลและป้องกันการจับตัวกันของลิ่มเลือด\

3) ชาอู่หลง (Oolong Tea)
ผลิตจากยอดชาอ่อนสีเขียวเช่นกัน แต่หลักจากอบไอน้ำแล้วนำมาหมักบ่มอีกครั้ง มีรสชาติขมเล็กน้อย

4) ชาดำ (Black Tea)
ผลิตจากใบชาแห้ง ที่นำไปรีดน้ำออกจนหมด และหมักบ่มจนเป็นสีส้ม หรือสีแดง เป็นชาที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุด หรือที่รู้จักกันว่า “ชาฝรั่ง” เช่น ดาร์จิลิง เอิร์ลเกรย์ และอิงลิชเบรคฟาสต์

5) ชาแต่งกลิ่น และชาสมุนไพร
มักนำชาดำมาแต่งเติมด้วยกลิ่นผลไม้ หรือดอกไม้ บางทีก็เติมน้ำตาล หรือชาที่ทำจากผลไม้และดอกไม้แห้ง 100% เช่น เก๊กฮวย ตะไคร้ กระเจี๊ยบ ใบหม่อน

Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.