กาแฟแต่งกลิ่นรส (Infused Coffee)

เมื่อ Sasa Sestic ตั้งคำถามกับอุตสาหกรรมกาแฟพิเศษว่า ถึงเวลาหรือยังที่ทุกฝ่ายควรจะบอกความจริงอย่างตรงไปตรงมา (Transparency)

ใครที่อยู่ในวงการกาแฟพิเศษคงจะได้ข่าวเรื่อง Infused Coffee จากบทสัมภาษณ์ของ Sasa Sestic ทาง website Perfect Daily Grind และนิตยสาร Beanscene ผ่านช่องทาง Social media ทุกทางไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Twitter ซึ่งก็ทำให้เกิดการแชร์และการ Comment มากมายซึ่งมีทั้งสนับสนุน เห็นด้วย และตั้งคำถามและข้อสงสัย

ในประเทศไทยเองก็มีการแชร์บทความนี้มากมายเช่นกัน เรียกว่าใน Facebook Page ของ Sasa Sestic มีการแชร์โพสนี้ไปกว่า 500 แชร์ปรากฏว่าเป็นการแชร์จากชาวไทยไปกว่า 400 แชร์ เรียกว่า 80% ของการแชร์ รวมถึงมีการแปลบทความนี้เป็นภาษาไทยด้วยจากหลายแหล่ง รวมถึงเป็นข่าวในสื่อหลักของไทยด้วย ในขณะเดียวกันหากไปดูที่ Comment ใน Instagram ส่วนใหญ่จะเป็นความเห็นจากนานาชาติเสียมาก ซึ่งทาง Sasa เองก็ตอบเกือบทุก comment เช่นเดียวกัน

ทาง Roast & Learn จึงอยากจะสรุปประเด็นต่างๆที่รวบรวมจากทั้งบทสัมภาษณ์ของ Sasa Sestic และความเห็นจากทั้งไทยและนานาชาติต่อเรื่อง Infused Coffee และเผื่อสำหรับคนที่อาจจะไม่รู้จักด้วยว่า Sasa Sestic ด้วยว่าแกเป็นใครกันนะ


#ประเด็นที่1 Sasa Sestic เป็นใครและสำคัญอย่างไรกับวงการกาแฟ?

เขาคือแชมป์ผู้ชนะเลิศจากออสเตรเลียในการแข่งขัน World Barista Championship 2015 ซึ่งเวทีการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดในโลกของบาริสต้ากาแฟ ใครที่เป็นแชมป์ในรายการนี้มักจะได้รับการยกย่องและยอมรับถึงทักษะทางกาแฟที่ยอดเยี่ยมและจะได้รับเชิญไปในงานกาแฟต่างๆทั่วโลก

สิ่งที่ Sasa Sestic สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการกาแฟโลกหลังจากชนะเลิศ WBC 2015 มีหลายประการเช่น

  1. กระบวนการทำกาแฟแบบ Carbonic maceration (CM) ที่เป็นเทคนิคที่ใช้ในการอุตสาหกรรมไวน์แต่ Sasa Sestic เอามาลองใช้กับกระบวนการ Fermentation ในกาแฟทำให้เกิดรสชาติที่โดดเด่นและซับซ้อนกว่าเดิม
  2. Sasa Sestic มีหนังสือและหนังชื่อว่า The Coffee Man ซึ่งพูดถึงประวัติของตัวเขาเองและเส้นทางกว่าที่เขาจะเป็นแชมป์กาแฟของออสเตรเลียและของโลก
  3. Sasa Sestic ได้รับเชิญไปทั่วโลกและมุ่งหน้าสู่การต่อยอดเทคนิค Carbonic maceration (CM) ในทางธุรกิจ

#ประเด็นที่2 ธุรกิจ Project Origin ของ Sasa Sestic

หลังจากที่ได้แชมป์ WBC 2015 แล้วทาง Sasa Sestic ได้เล็งเห็นว่ามีความต้องการกาแฟที่ผ่านการทำด้วยเทคนิค Carbonic maceration อย่างมากมายจึงจับมือกับ Jamison Salvage เจ้าของไร่ Finca Deborah ใน Panama เพื่อพัฒนาคุณภาพของกาแฟสายพันธุ์ Gesha ที่คะแนน Cup score ประมาณ 87.5 ให้สูงขึ้นเป็น 90+ ได้ ทำให้เกิดการนำเทคนิค CM ไปใช้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นและต่อมาก็กลายเป็นเครื่องหมายการค้า “Project Origin” ซึ่งหมายถึงกาแฟที่ผ่านการทำด้วย CM และมี Sasa Sestic เป็นผู้ออกแบบกระบวนการทำกาแฟนั้น ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของ Roaster ทั่วโลก ซึ่งผลกำไรจากการสารกาแฟ Project Origin นั้น Sasa Sestic บอกว่านำไปพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรกาแฟในประเทศที่ร่วมโครงการผ่านการสร้างโรงเรียนและสาธารณูปโภคต่างๆ

จากปี 2015 เป็นต้นมา Sasa Sestic การพัฒนาเทคนิคการทำกาแฟ CM ผ่านโครงการ Project Origin ใน 10 ประเทศ กว่า 50 ไร่กาแฟและผ่านการทดลองกว่า 1500 แบบ พร้อมทั้งความร่วมมือจากนักวิทยาศาสตร์ทุกแขนงที่เกี่ยวข้อง ทำให้องค์ความรู้ทางการทำกาแฟของ Sasa Sestic เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนกระทั่งเขาได้ลองใช้เทคนิค CM กับกาแฟสายพันธุ์ธรรมดาเช่น Catimor ในไร่ที่มีความสูงไม่มาก ซึ่งปรากฏว่าสามารถทำให้กาแฟ Catimor และ Caturra สามารถติด Top Ten ในการประกวดกาแฟ Cup of Excellence ที่ Nicaragua ได้


#ประเด็นที่3 กาแฟของ Project Origin เป็นที่ต้องการจากทั้งคอกาแฟและผู้แข่งขันกาแฟ

ดังจะเห็นได้ว่าแชมป์กาแฟในแต่ละประเทศจำนวนไม่น้อยที่ใช้กาแฟของ Project Origin รวมถึงแชมป์ WBC ก็ใช้กาแฟของ Project Origin เนื่องจากเป็นกาแฟที่มีรสชาติโดดเด่นและซับซ้อน ซึ่งกาแฟที่ใช้แข่งขันมักจะมีกระบวนการทำที่ซับซ้อนและเปิดเผยรายละเอียดเพียงเบื้องต้น เพราะเป็นความลับทางธุรกิจเปรียบได้กับสูตรการทำอาหารนั่นเอง


#ประเด็นที่4 เวทีการแข่งขันกาแฟเริ่มมีกาแฟที่มีกลิ่นชัดผิดปกติ

Sasa ได้กล่าวถึงเวทีการแข่งขันกาแฟ 2018 WBC ที่ Amsterdam และ 2019 WBC ที่ Boston ที่ตัวเขาเองได้มีโอกาสชิมกาแฟของผู้เข้าแข่งขันและพบว่ามีกลิ่นของ Cinnamon ที่ชัดมากซึ่งเขาไม่เคยได้กลิ่นที่ชัดเจนขนาดนี้มาก่อน แม้ว่าเขาจะมีประสบการณ์ในการสร้างกลิ่นรสกาแฟผ่านกระบวนการ Fermentation มาอย่างมากมายก็ตาม ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่ากาแฟทั้งสองตัวนี้มาจาก Costa Rica แต่มาจากคนละไร่ แต่ทำไมมีกลิ่น Cinnamon เหมือนกันอย่างยิ่ง แม้ว่าผู้แข่งขันจะบอกว่าเป็นการ Special yeast ก็ตาม

ในองค์ความรู้และงานวิจัยกาแฟทำให้ Sasa มั่นใจว่าไม่มีทางที่การ Fermentation ใดๆจะทำให้เกิดกลิ่น Cinnamon ชัดเจนขนาดนั้นได้ นอกเสียจากการเติมกลิ่น Cinnamon เท่านั้น

หลังจากนั้นในการแข่งขันกาแฟที่ Ecuador เขาก็เจอกาแฟที่มีกลิ่นผลไม้ Tropical fruit ที่ชัดแบบสุดๆ จนต้องเอาสารกาแฟ Green bean มาตรวจสอบซึ่งพบว่าเป็นกลิ่นเดียวกันซึ่งต้องผ่านการแต่งเติมกลิ่นแน่นอนเลย disqualify ผู้แข่งขัน แต่กาแฟตัวเดียวกันนี้ถูกนำไปใช้ในการแข่งขันที่ Italy และได้รางวัลด้วย

ตรงนี้จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับการให้คะแนนกาแฟในการแข่งขัน ที่มักจะให้คะแนนสูงหากกาแฟมีกลิ่นรสที่ชัดเจนตรงตามที่ผู้แข่งขันบรรยาย และยากที่จะพิสูจน์ได้ว่ากาแฟตัวดังกล่าวผ่านการแต่งเติมกลิ่น (infused) มาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่ทำ process ยืนยันว่ากลิ่นรสดังกล่าวเกิดจากการ Fermentation ที่ซับซ้อน


#ประเด็นที่5 พิสูจน์ว่ากาแฟที่น่าสงสัยแต่งกลิ่นหรือไม่

ตรงนี้ Sasa จึงขอคำปรึกษาจากสถาบันการศึกษากาแฟระดับโลก นั่นคือ Coffee Excellence Center ที่ Zurich University of Applied Science (ZHAW) Switzerland โดยหัวหน้าสถาบันคือ Professor Chahan Yeretzian และ dr. Samo Smrke ได้ทำการทดสอบกาแฟที่สงสัยด้วยเครื่องมือ Gas Chromatography และ Proton-Transfer-Reaction Mass Spectrometry

ซึ่งหลังจากการทดสอบที่ซับซ้อนก็ได้รับผลยืนยันว่ากลิ่นที่ได้ในกาแฟนั้นเป็นสารที่เกิดจากการเติมแต่งแน่นอน และมีคุณสมบัติเหมือนกับ Essential Oil หรือน้ำมันสกัดจากพืชชนิดดังกล่าว


#ประเด็นที่6 ตกลงกาแฟแบบไหนถึงเรียกว่าธรรมชาติ (Natural coffee) กันแน่?

Professor Chahan Yeretzian ได้ให้คำตอบไว้ว่ากลิ่นรสกาแฟที่แตกต่างกันในทางวิชาการเกิดได้จาก

  1. Genetic คือพันธุกรรมของสายพันธุ์นั้น
  2. Terroir คือสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ดิน ปุ๋ย ทุกอย่าง
  3. Processing คือกระบวนการตั้งแต่ต้นนำถึงปลายน้ำ คือนับตั้งแต่การเก็บเกี่ยวจนถึงการ Fermentation ตามธรรมชาติโดยไม่ได้เติมเชื้ออะไรไป จนถึงการตาก การคั่วและการชงตามปกติ

#ประเด็นที่7 กาแฟแต่งเติมกลิ่นคืออะไร

Professor Chahan Yeretzian ก็ให้คำตอบไว้อีกว่า กาแฟที่แต่งเติมกลิ่นที่มากกว่าธรรมชาติเรียกว่า Adulterated Coffee ซึ่งเอาเข้าจริงก็นับตั้งแต่การใช้เชื้อจุลินทรีย์จากภายนอกเหนือจากที่มีมาจากธรรมชาติ ไปจนถึงการเติมกลิ่นด้วยการ infuse สารต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยการแช่หรือการ spray รวมไปถึงการใช้ organic acid หรือการใช้ผลไม้หรือสารอาหารต่างๆในการหมักด้วย และไปไกลถึงการ brew กาแฟที่ปัจจุบันมีการใช้น้ำที่ผสมกรดผลไม้หรือปรับค่ากรดด่างด้วยสารเคมีบางอย่างกันแล้ว ทั้งหมดนี้ควรจะเรียกว่ากาแฟที่มีการแต่งกลิ่นเกินกว่าธรรมชาติทั้งหมด

การแต่งกลิ่นในอาหาร ( Adulterate) เป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมอาหารอยู่แล้วเพียงแต่ต้องชี้แจงและมีการทดสอบว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค การแต่งกลิ่นแม้ว่าจะใช้สารสกัดจากธรรมชาติเช่น Essential Oil ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยสำหรับการบริโภค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลังโดนความร้อนด้วย ดังนั้นถ้ายึดตามหลักความปลอดภัยควรจะต้องแจ้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย


#ประเด็นที่8 Competition concern การเปลี่ยนโฉมการแข่งขันกาแฟ

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการแข่งขันกาแฟ แพ้ชนะตัดสินกันที่คุณภาพกาแฟ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับความโดดเด่นและซับซ้อนของกลิ่นรสกาแฟและความถูกต้องของการบรรยายของผู้แข่งขัน ซึ่งตามปกติต้องมีการวางแผนการคั่วกาแฟให้พอดี การเลือกเทคนิคการสกัดและรายละเอียดทุกอย่างต้องแม่นยำมาก

แต่ถ้าหากการแข่งขันมีกาแฟที่แต่งเติมกลิ่นเข้ามาด้วย ก็จะทำให้เกิดข้อได้เปรียบมหาศาลเพราะรสชาติและความซับซ้อนของกลิ่นรสแทบจะกำหนดได้ และความผิดพลาดจากการคั่วและการสกัดกาแฟบนเวทีการแข่งขันจะลดลงไปเยอะมาก เพราะรสชาติกาแฟจะนิ่งอยู่แล้ว ซึ่งตรงจุดนี้ Sasa กังวลมากเพราะไม่ง่ายที่จะพิสูจน์ได้ว่ากาแฟตัวไหนมีการ infused มาก่อนและไม่มีทางที่กาแฟที่ผ่านการ fermentation จะมีกลิ่นรสชัดเจนเท่ากาแฟที่ infuse มาได้

หากคิดไปไกลถึงตลาดผู้บริโภคก็อาจจะยิ่งน่าห่วงเพราะปัญหาของคอกาแฟคือการชิมกาแฟแล้วไม่ได้เกิดความรู้สึกเหมือนที่บรรยายหรือที่เขียนไว้ข้างถุง ซึ่งหากเป็นกาแฟธรรมชาติ กาแฟยิ่งรสชัดก็จะยิ่งแพง แต่กระนั้นก็ยังต้องอาศัยทักษะการชิมรสกาแฟอยู่ดี ในทางกลับกันกาแฟที่ผ่านการเติมกลิ่น จะทำให้ผู้บริโภคเกิดประสบการณ์ที่ชิมกาแฟแล้วได้กลิ่นรสตรงตามคำบรรยาย แม้จะเอากาแฟมาชงเองก็จะได้กลิ่นตรงเช่นกัน ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะเป็นที่ต้องการก็ได้


#ประเด็นที่9 ทำไมควรเปิดเผยว่ากาแฟแต่งกลิ่นหรือไม่ (Why Transparency?)

Sasa กล่าวว่าทุกวันนี้กาแฟที่มีคุณภาพดีตามธรรมชาติ เกิดจากการทำงานอย่างเหนื่อยยากของเกษตรกรกาแฟ และการที่กาแฟขายได้ราคาดีก็จะถูกนำกลับไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน แต่หากว่าการใช้กาแฟคุณภาพต่ำแต่อาศัยการแต่งกลิ่นรสสามารถขายได้ราคาเช่นเดียวกันและไม่จำเป็นต้องเหนื่อยในทุกขั้นตอนการทำกาแฟ อนาคตจะมีเกษตรกรกาแฟคนไหนที่จะยอมทำกาแฟแบบลำบากอีก ทุกคนก็ย่อมเลือกวิธีที่ทำง่ายได้เงินมากแน่นอน

ดังนั้นการเปิดเผยว่ากลิ่นรสกาแฟเกิดจากการเติมแต่งหรือธรรมชาติจะช่วยแยกแยะความจริงและทำให้เกิดความโปร่งใสในอุตสาหกรรมกาแฟและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เพราะอย่างน้อยผู้บริโภคจะได้รู้ว่าตัวเองกำลังทานอะไรอยู่กันแน่ และอาจจะทำให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยจากภาครัฐด้วย


#ประเด็นที่10 เนื่องจากการเรียกร้องให้เปิดเผยว่าเติมแต่งกลิ่นกาแฟหรือไม่อาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะใครจะบอกตรงๆถ้ายังไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบอะไรกันแน่

ดังนั้น Sasa จึงแนะนำวิธีการตรวจสอบเบื้องต้นดังนี้คือ

  1. บดสารกาแฟ (Green bean) แบบหยาบ ใช้ประมาณ 20 กรัม แช่น้ำอุ่น 40 องศา 200cc ประมาณ 15 นาทีแล้วลองดมหรือชิมน้ำดูว่าได้กลิ่นที่เด่นชัดเช่นมะลิ Cinnamon หรือกุหลาบไหม
  2. เอากาแฟไปคั่วแล้วชงชิมอีกทีว่าได้กลิ่นเหมือนน้ำแช่สารกาแฟหรือไม่
  3. สุดท้ายลองทิ้งกาแฟไว้อีก 6 เดือนแล้วนำมาชงอีกรอบเพื่อดูว่ากลิ่นรสยังเหมือนเดิมหรือไม่

ถ้าใช่หมด ก็น่าจะเป็นกาแฟแต่งกลิ่นรสอย่างแน่นอน


#กาแฟแต่งกลิ่นCinnamon ลองทำเองดูก็ได้

Sasa ได้แนะนำว่าหากสงสัยว่าการเติมแต่งกลิ่นทำได้อย่างไร ลองทดสอบดูแบบง่ายๆคือ

1. เอาสารกาแฟ (Green Bean) มาแช่น้ำในถังและใส่ก้านอบเชย (Cinnamon Stick) ลงไปสามสี่อัน ปิดฝาแช่ทิ้งไว้ 3-5 วัน
2. จากนั้นเอาสารกาแฟมาตากแดดให้แห้งจนถึงระดับความชื้น 11% หรือจะไว้ในห้องดูดความชื้นก็ได้หรือจะไล่น้ำโดยใช้เครื่องคั่วกาแฟก็ได้ โดยให้อุณหภูมิต่ำคือ 35 องศา
3. จากนั้นก็เอากาแฟมาทดสอบอย่างที่ Sasa แนะนำคือบดแช่น้ำเทียบกับการเอากาแฟไปคั่วแล้วลองเปรียบเทียบกลิ่นดู
4. Sasa บอกว่ากาแฟ Cinnamon เขาเจอในกาแฟที่มาจาก Columbia หลายรายเลยรวมถึงประเทศค่างๆในทวีปอเมริกาใต้ด้วย


#การตอบสนองจากชาวกาแฟทั่วโลกฝ่ายสนับสนุน

1. แน่นอนว่าทุกคนย่อมต้องการความโปร่งใสคงไม่มีใครชอบถูกหลอก
2. เป็นประโยชน์แก่ผู้ซื้อ เช่นโรงคั่วกาแฟจะได้รู้ว่ากาแฟที่ตัวเองได้มากทำ process อะไรมากันแน่
3. เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค เพราะอย่างน้อยก็รู้ว่ากลิ่นรสในกาแฟที่ตัวเองดื่มมาจากไหนกันแน่
4. เพื่อความปลอดภัย เพราะแม้จะเติมแต่งกลิ่นจากสารสกัดจากธรรมชาติ หากบริโภคเข้าไปก็อาจจะเกิดการแพ้หรือแม้แต่อันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นหากมีกฎหมายต้องเอาไปทดสอบวิเคราะห์ก่อนก็อาจจะดี


#การตอบสนองจากชาวกาแฟที่มีข้อสงสัย

1. ต้องกระบวนการแค่ไหนที่เรียกว่าการเติมแต่งกลิ่นกาแฟ? ยกตัวอย่างเช่นการใส่ผลไม้บางอย่างไประหว่างการ fermentation ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นอาหารของยีสต์หรืออาจจะมีการซึมของกลิ่นผลไม้ลงไปในเมล็ดกาแฟได้ แบบนี้จะเรียกว่า infuse ไหม หรือการเติมกรดผลไม้เช่น Citric, Malic, Tartaric ลงไประหว่างการ fermentation หรือหลังจากนั้นจะถือว่าเป็นการ infused ด้วยไหม

2. แล้วจะบอกไปเพื่ออะไร? เพราะไม่ได้มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับกฎหมายอะไรที่ต้องบอก และดูเหมือนจะไม่ได้เป็นผลดีต่อผู้ที่แต่งเติมกลิ่นรสเลย

3. และมีหลักฐานอะไรว่าสารที่เติมลงไปไม่ปลอดภัย เพราะสารมากมายที่อาจจะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติหรือสารผสมอาหารอยู่แล้ว บางคนอาจจะอ้างถึงผลการวิจัยในเรื่องอื่นเพื่อมาเทียบเคียง ซึ่งในแง่วิชาการก็อาจจะเปรียบเทียบแบบนั้นไม่ได้เสมอไป ซึ่งในกรณีนี้อาจจะดูเคสของ Acrylamide ในกาแฟ ที่เคยเป็นข่าวไปทั่วโลกว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งมีหลักฐานทางการวิทยาศาสตร์จริงในสัตว์ทดลอง แต่ในคนไม่มีหลักฐานอะไรเลยว่าปริมาณที่มีอยู่ในกาแฟจะมีส่วนที่ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จน US FDA ต้องออกมายืนยันว่าดื่มกาแฟปลอดภัยไม่ทำให้เป็นมะเร็งแน่นอนหากดื่มตามคำแนะนำ

4. มีคนโต้ตอบว่าการที่เอาสารกาแฟไปแช่น้ำแล้วเปลี่ยนสีไม่ได้บอกว่ากาแฟ infuse เสมอไป มีกาแฟที่ผ่านกระบวนการ Honey ที่ไปแช่น้ำก็เปลี่ยนสีได้ ซึ่ง Sasa เองก็ยอมรับ

5. มีคนที่ทำการ infuse สารกาแฟด้วยสารสกัดที่คุณภาพดี ได้ลองเอากาแฟไปบดและแช่น้ำก็พบว่าน้ำไม่มีกลิ่นอะไรเลย ดังนั้นการแช่น้ำแล้วไม่ได้กลิ่นจึงไม่ได้ยืนยันเลยว่ากาแฟนั้นไม่ได้ infuse มา

6. หากมองในแง่ดี กาแฟบางสายพันธ์รสชาติไม่ได้โดดเด่น แม้ว่าจะดูแลต้นอย่างไรก็ไม่ได้หวือหวา หากมีการ infuse กลิ่นรสแล้วกาแฟรสชาติดีขึ้นและขายได้ราคาดีขึ้น แบบนี้ไม่ดีหรือ?

7. กาแฟ Infused มีขายแบบเปิดเผยอยู่แล้วทั่วไปโดยเฉพาะอเมริกา มีกาแฟที่ไปแช่ไวน์ วิสกี้ หรือแม้แต่ CBD วางขายทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งในกรณีนี้ก็เปิดเผยชัดเจนซึ่งก็ได้รับความนิยมในคนที่ชอบกาแฟที่มีกลิ่นหอมของเหล้าด้วย

8. หาก Infused ด้วยเทคนิคต่างๆที่ปลอดภัยจะทำให้เกิดกาแฟที่มีรสชาติทีเด่นชัดและต้นทุนต่ำลง โอกาสในการขายกาแฟก็จะเปิดกว้างสำหรับผู้เล่นรายใหม่ เพราะทุกวันนี้ตลาดผู้ขายสารกาแฟระดับแข่งขันมีเพียงไม่กี่ราย หากยอมรับกาแฟที่ infused แบบคุณภาพสูงได้ ก็อาจจะถือเป็นนวัตกรรมในวงการกาแฟก็ได้


#สรุป

การเติมแต่งกลิ่นรสในกาแฟ (Infused Coffee) มีอยู่จริง ขึ้นอยู่กับว่าจะมองมุมไหนและให้คำจำกัดความว่าอย่างไร จะมองว่าเป็นนวัตกรรมหรือทางลัด หรือจะมองว่ามีปัญหาความปลอดภัย หรือจะมองว่าทำให้อนาคตของอุตสาหกรรมกาแฟตกต่ำ หรืออาจจะทำให้กระจายรายได้สู่เกษตรกรทั่วไปจะได้ไหม อันนี้คงต้องให้สังคมชาวกาแฟเป็นผู้ตอบแล้ว


ข้อมูลอ้างอิง

ขอบคุณบทความจากผู้เขียน

หมอแม็ก (Roast & Learn) – https://www.facebook.com/Roast-Learn-103960434574312/