90 ปีก่อน เพื่อแสวงหาความรอด ประเทศบราซิลตัดสินใจเผาเมล็ดกาแฟมูลค่าหลายพันล้านปอนด์

ในช่วงเวลาระหว่างปี 1931 ถึง 1944 ประเทศบราซิลได้ทำการเผากาแฟส่งออก 78.2 ล้านถุง นั่นเท่ากับกาแฟ 10.3 พันล้านปอนด์ ซึ่งชาวบราซิลในปัจจุบันที่มีการบริโภคกาแฟมากกว่าสมัยนั้นมากต้องใช้เวลามากถึง 3.7 ปีในการบริโภค

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา กาแฟถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ขาดไม่ได้ของชาวบราซิล และมีความสำคัญอย่างยิ่งทางสังคมและวัฒนธรรมของพวกเขา ดูได้จากการเรียก ว่า “อาหารเช้า” ในภาษาโปรตุเกสบราซิล “Café da Manhã” ซึ่งหมายความว่า “กาแฟในตอนเช้า”

ในเมื่อกาแฟมีความสำคัญต่อชาวบบราซิลลขนาดนี้ แล้วเหตุใดกันที่พวกเขาตัดสินใจเผามัน?


บริบททางประวัติศาสตร์

เพื่อให้เราเข้าใจถึงเหตุผลในการเผาทิ้งกาแฟของชาวบราซิล เราจำเป็นต้องมองกลับไปยังบริบททางประวัติศาสตร์ก่อนการเผากาแฟครั้งแรกจะเกิดขึ้นในปี 1931

ในช่วงทศวรรษที่ 1870 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศบราซิลเริ่มแยกตัวจากระบอบราชาธิปไตย ซึ่งมาพร้อมกับการรัฐประหารในปี 1889 ที่ฝ่ายทหารได้โค่นล้มจักรพรรดิดอม เปโดรที่ 2 สำเร็จอย่างเป็นทางการ ผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่และเจ้าของที่ดินที่ให้ความช่วยเหลือทางการเมืองในครั้งนั้น ต่างแสวงหาค่าชดเชยจากการเลิกทาส ตลอดจนเงินอุดหนุนเพื่อนำผู้อพยพชาวยุโรปเข้ามาเป็นแรงงานในไร่กาแฟของตน ในช่วงการบริหารประเทศของประธานาธิบดีคนที่สอง “Campo Sales” ในปี 1898 ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “República do café com leite” หรือ “coffee with milk”

ชื่อนี้ได้มาจากกิจกรรมของรัฐที่มีอำนาจเหนือเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่ประเทศบราซิลมีจำนวนประชากรมากที่สุด ซึ่งเจ้าของไร่กาแฟรายใหญ่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง จึงแนะนำให้รัฐบาลให้ส่งเสริมการเพาะปลูกมากขึ้น ให้วงเงินสินเชื่อแก่เจ้าของที่ดิน และสร้างสถาบันเพื่อส่งเสริมการปลูกกาแฟ รวมถึงงบประมาณในงานวิจัยและการพาณิชย์สำหรับธุรกิจกาแฟโดยเฉพาะ

ส่งผลให้ในปี ค.ศ. 1906 เกิดการผลิตกาแฟมากเกินความต้องการทำให้ราคากาแฟตกลงอย่างมาก สิ่งนี้กระตุ้นให้ 3 ผู้ว่าการรัฐที่มีการผลิตกาแฟมากที่สุด เข้ามามีส่วนร่วมในความพยายามที่จะประเมินราคากาแฟ โดยใช้เงินกู้ระหว่างประเทศเพื่อซื้อหุ้นกาแฟส่วนเกิน เพื่อทำให้ราคากาแฟในตลาดต่างประเทศมีเสถียรภาพ

ความสมดุลทางการเมืองและเศรษฐกิจของบราซิลดำเนินต่อไปเป็นเวลาหลายทศวรรษหลังจากนั้น ทำให้บราซิลครอบครองการผลิตกาแฟอันดับ 1 ของโลก การเก็บกักเมล็ดกาแฟไว้หลายปีในช่วงที่ราคาตกถือเป็นเรื่องปกติในเวลานั้น เนื่องจากแนวความคิดเกี่ยวกับคุณภาพของเมล็ดกาแฟยังไม่ได้รับการพัฒนาสู่มาตรฐานที่ใช้กันในปัจจุบัน


ปี 1929 เมื่อฝันร้ายมาเยือน

ในปี 1929 ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งพึ่งพาการส่งออกกาแฟเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลานั้นมูลค่าสินค้าส่งออกกว่า 50% ของบราซิลคือเมล็ดกาแฟ เมื่อเทียบกับ 2.7% ในปัจจุบัน

ณ เวลานั้น ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของบราซิล และเมื่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตกต่ำ ตามด้วยการสูญเสียของหลายธุรกิจในประเทศ ทำให้การนำเข้าและมูลค่ากาแฟของบราซิลลดลงตามไปด้วยเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น โดยในช่วงต้นปี 1929 กาแฟหนึ่งกระสอบมีมูลค่า 200,000 Réis แต่ในช่วงสิ้นปีกลับสูญเสียมูลค่าลงถึง 90%

อุบัติการณ์ครั้งนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำประเทศบราซิลเข้าสู่การทำรัฐประหาร ซึ่งโค่นล้มประธานาธิบดีและผู้สืบทอดตำแหน่ง ในปี 1930 และการล่มสลายของ “สาธารณรัฐ café au lait” และเมื่อประธานาธิบดี Getúlio Vargas เข้ายึดอำนาจและได้พยายามที่จะทำลายความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับผู้ปลูกกาแฟรายใหญ่ แต่อิทธิพลของพวกเขายังคงแข็งแกร่งเกินต้าน

อย่างไรก็ตาม ความสมดุลทางเศรษฐกิจและปากท้องประชาชนยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งก่อนการยึดอำนาจ ผู้นำของประเทศบราซิลต่างเชื่อว่าจุดแข็งทางการเกษตรของประเทศคืออุตสาหกรรมกาแฟ โกโก้ ฝ้าย และยาง ซึ่งจะเป็นสายสัมพันธ์ที่ไม่มีวันสิ้นสุดลงระหว่างคู่ค้าหลักเช่นอเมริกา และประเทศในยุโรป

ทว่าความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อนั้นไม่เที่ยงแท้แต่อย่างใด นักประวัติศาสตร์บางคนเรียกเศรษฐกิจของบราซิลในขณะนั้นว่า “เศรษฐกิจของหวาน” เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่จำเป็นในเวลาเศรษฐกิจฝืดเคือง และต้นทุนการส่งออกก็สูงขึ้น ในขณะประเทศอื่น ๆ เริ่มลงทุนในการผลิตกาแฟของตัวเอง ในขณะเดียวกัน อิทธิพลจากผู้ผลิตในชนบทรายใหญ่หลายทศวรรษในการเมืองของบราซิลก็จบลงด้วยการไม่สร้างแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาชนบท กล่าวโดยย่อ สินค้าถูกขายเพื่อส่งออกในขณะที่สินค้าที่ผลิตขึ้นจะถูกนำเข้า


มาเผากาแฟทิ้งกันเถอะ!

เมื่อตลาดส่งออกพังทลายลง ทุ่งนาเต็มไปด้วยพืชผลที่ไม่มีใครเก็บและกระสอบกาแฟที่กองซ้อนอยู่เต็มโกดังจากการเก็บเกี่ยวก่อนหน้า แน่นอนว่าราคากาแฟย่อมตกต่ำตามไปด้วย ในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังพึ่งพิงจากเมล็ดกาแฟส่งออก รัฐบาลภายใต้เกทูลิโอจึงเลือกที่จะเพิ่มภาษีศุลกากรและจัดทำงบประมาณเพื่อซื้อกาแฟที่เก็บไว้ – เพื่อนำไปเผา!

ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอุสาหกรรมกาแฟเพื่อร่างกฎหมายและดูแลการทำลายเมล็ดกาแฟโดยเฉพาะ โดยในช่วงแรกของการก่อตั้งคณะกรรมการ แนวคิดหลักคือการเร่งทำลายกาแฟคุณภาพต่ำ แล้วจึงทำลายสินค้าคงคลังของกาแฟรุ่นเก่า ทว่าในไม่ช้าแม้แต่เมล็ดกาแฟล็อตใหม่ที่มีคุณภาพก็ถูกทำลายด้วยเช่นกัน

ในทางทฤษฎี การเผากาแฟทิ้งจำนวนมากจะช่วงเพิ่มมูลค่าในตลาดต่างประเทศได้ ด้วยการลดปริมาณสินค้าให้มีน้อยลงเมื่อเทียบกับความต้องการที่คงที่และลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้า ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเงินกู้จากต่างชาติ อย่างไรก็ดีการเผาเมล็ดกาแฟจำนวนมากทิ้งในครั้งนั้นไม่ใช่การตัดสินใจที่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งนำไปสู่การแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ “Oswaldo Aranha” ในปี 1931 อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีฯ คนใหม่ยังคงเดินหน้าไปกับโครงการเผากาแฟในสต็อก โดยในปีนั้น เมล็ดกาแฟในสต็อกประมาณ 12% ถูกเผาทิ้ง ในปี 1937 เมล็ดกาแฟในสต็อกประจำปีกว่า 70% ถูกเผาทิ้ง โดยเฉลี่ย 27% เมล็ดกาแฟในสต็อกถูกทำลายระหว่างปี 1931 – 44

วัฏจักรการเผากาแฟส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเมืองซานโตส ซึ่งทุกวันนี้เมล็ดกาแฟของบราซิลกว่า 75% ยังคงถูกส่งออกจากเมืองท่าแห่งนี้สู่ตลาดโลก

หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งรายงานว่ากลิ่นกาแฟไหม้กระจายตามลมไปทั่วบริเวณและควันกาแฟขนาดมหึมาสามารถมองเห็นได้จากระยะไกลหลายกิโลเมตรจากชายฝั่งของรัฐเซาเปาโลสู่เมืองใกล้เคียง

ทั้งนี้ ด้วยเมล็ดกาแฟที่ส่งไปไปเผามีจำนวนมาก มากจนคนงานเริ่มโยนเมล็ดกาแฟลงทะเลเพื่อลดสต๊อกและเวลาทำงาน หลายคนเชื่อว่าอาจมีคอรัปชั่นและผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้องก็เป็นได้ เมื่อมีคนบางกลุ่มเริ่มเก็บกาแฟทะเลจากทะเล ล้างแล้วทำให้แห้ง ก่อนบรรจุถุงขายมันคืออาชญากรรมในฝันร้ายของบราซิล

ต่อมาจึงได้มีการนำเมล็ดกาแฟที่จัดสรรไว้สำหรับการทำลาย ไปทดลองใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงในโรงงานและในการขับเคลื่อนรถจักรไอน้ำ โดยเมล็ดกาแฟ 2,912 กิโลกรัม สามารถเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนรถจักรไอน้ำน้ำหนัก 610 ตัน ได้ 2 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ตลาดสามารถควบคุมราคาเองได้ เพราะเมล็ดกาแฟที่ถูกทำลายทั้งหมดไม่ได้สร้างรายได้จากภาษีส่งออกแม้จะเล็กน้อยก็ตาม ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลบราซิลนั้นมหาศาล ส่วนเกษตรกรแม้จะได้รับเงินช่วยเหลือ แต่หลายคนก็ล้มละลายอยู่ดี เนื่องจากราคายังคงอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลาหลายปี

 

แปลจากบทความของ: โจนัส เฟอร์ราเรสโซ | 22 กันยายน 2564
อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่: https://dailycoffeenews.com/2021/09/22/90-years-ago-seeking-salvation-brazil-burned-billions-of-pounds-of-coffee/

Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.