วัฒนธรรมการปลูกและดื่มชา มีมานานไม่ต่ำกว่า 4,000 ปี ประวัติศาสตร์เล่าขานกันว่า การดื่มชา ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศจีน โดย จักรพรรดิเสินหนิง (Shen Nung) ที่กำลังต้มน้ำอยู่ใต้ต้นชา และสายลมที่พัดผ่านทำให้ใบชาตกลงไปในกาต้มน้ำโดยบังเอิญ เกิดเป็นเครื่องดื่มรสชาติถูกปาก จนพัฒนาต่อมากลายเป็น วรรณกรรมชาคลาสสิกฉาชิง (Cha Ching) ที่เป็นตำราเกี่ยวกับการปลูกชา การผลิต วิธีการดื่มและชงชาในประวัติศาสตร์เล่มแรกของโลก
ชาในประวัติศาสตร์จีน
ต้องใช้เวลากว่า 3,000 ปี ตั้งแต่การค้นพบครั้งแรก กว่าชาจะกลายเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายในประเทศจีน โดยส่วนใหญ่ใช้ดื่มเพื่อสรรพคุณทางยา บันทึกทางประวัติศาสตร์เล่าว่า เริ่มมีการเก็บภาษีชาเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง และเริ่มมีการแปรรูปชาด้วยการอบไอน้ำและตากแห้งครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หมิง ชาที่ผ่านกระบวนการตากแห้ง หรือ “ชาดำ” มักถูกขายเพื่อส่งออก ขณะที่ชาวจีนยังคงวัฒนธรรมดื่มชาสด หรือ “ชาเขียว” ตามวิธีดั้งเดิมแต่โบราณ
ชาในประวัติศาสตร์ยุโรป
ชาวดัทช์เป็นชาติแรกที่ริเริ่มความนิยมจิบชาในยุโรป โดยเริ่มขนส่งชาไปยังพื้นทวีปในช่วงทศวรรษ 1610 ก่อนจะแพร่หลายไปสู่อังกฤษในทศวรรษ 1650 และแพร่หลายจนกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในที่สุด ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมามีการิเริ่มเขียนตำราการดื่มชาในฐานะวัฒนธรรมของชนชั้นสูงของราชวงศ์และขุนนางอังกฤษ
พื้นที่ปลูกชาในประเทศต่างๆ
แม้ว่าชาจะถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศจีน แต่ประเทศผู้ผลิตชารายใหญ่ไม่ได้มีแค่จีนประเทศเดียว ราวปี 1191 นักบวชนิกายเซนได้นำเมล็ดชาจากจีนเข้ามาปลูกในญี่ปุ่น และเริ่มมีการเก็บเกี่ยวและดื่มชากันในเกาะทางใต้ของแดนอาทิตย์อุทัย นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบชาในรัฐอัสสัมของอินเดีย ที่เริ่มนำมาจำหน่ายครั้งแรกในอังกฤษเมื่อปี 1839 การล่าอาณานิคมยังทำให้การปลูกชาเริ่มแพร่หลายไปทั้วโลก โดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้นำชาไปปลูกที่เมืองเคปในทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรกในปี 1687 ก่อนขยายไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น เคนยา มาลาวี และแทนซาเนีย
เครื่องดื่มที่เป็นชนวนแห่งอิสรภาพ
การเก็บภาษีชาของเจ้าอาณานิคมอังกฤษยังเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาติอาณานิคมในทวีปอเมริกาในศตวรรษที่ 17 โดยในเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อว่า “Boston Tea Party” กลุ่ม Sons of Liberty หรือผู้ปลดปล่อยอเมริกาได้แอบขโมยชาไปจากเรือขนส่งถึง 342 หีบ ทำให้เจ้าอาณานิคมลงดาบด้วยการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองในอาณานิคม จนนำไปสู่ความไม่พอใจ และการทำสงครามประกาศอิสระภาพในเวลาต่อมา
ประวัติของชาในประเทศไทย
หลักฐานจากจดหมายของลาลูแบร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์บ่งชี้ว่า คนไทยรู้จักการดื่มน้ำชากันมานานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน และนิยมเสิร์ฟน้ำชาในการต้อนรับแขก ด้วยวิธีเดียวกับการชงชาในประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบต้นชาป่าพันธุ์อัสสัมอายุหลายร้อยปี ที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ชาวบ้านขนานนามว่าเป็น “ต้นชาพันปี” ทำให้พบว่าต้นชามีอยู่ในไทยมานานแล้วในแถบที่ราบสูงทางตอนเหนือของประเทศ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ลำปาง และตาก
ประเภทของชาที่นิยมดื่มกันในปัจจุบัน
ชา หรือ เครื่องดื่มที่ทำจากต้นคาเมลเลีย ซิเนนซิส (Camellia Sinensis) ในปัจจุบันมีความหลากหลายมากกว่า 3,000 ประเภท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ วิธีการเก็บและกระบวนการแปรรูป โดยชาที่นิยมดื่มกันอย่างแพร่หลายมี 5 ประเภท ได้แก่
1) ชาขาว (White Tea)
เป็นชาที่ผลิตจากยอดชาอ่อนที่มีขนบาง ๆ สีขาวปกคลุ่ม หลังเก็บเกี่ยวแล้วจะนำมาตากแดดหรือตากลมให้แห้งอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาความสดใหม่ ใบชามีกลิ่มหอมอ่อน ๆ สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น จึงมีราคาแพง
2) ชาเขียว (Green Tea)
ผลิตจากยอดชาอ่อนสีเขียว และนำมาอบไอน้ำเพื่อคงความสดใหม่ กระบวนการผลิตชาเขียวแบบจีนและญี่ปุ่นมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันชาเขียวได้รับความนิยมมากจากสรรพคุณด้านสุขภาพ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสเกิดมะเร็ง ลดระดับคลอเลสเตอรอลและป้องกันการจับตัวกันของลิ่มเลือด\
3) ชาอู่หลง (Oolong Tea)
ผลิตจากยอดชาอ่อนสีเขียวเช่นกัน แต่หลักจากอบไอน้ำแล้วนำมาหมักบ่มอีกครั้ง มีรสชาติขมเล็กน้อย
4) ชาดำ (Black Tea)
ผลิตจากใบชาแห้ง ที่นำไปรีดน้ำออกจนหมด และหมักบ่มจนเป็นสีส้ม หรือสีแดง เป็นชาที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุด หรือที่รู้จักกันว่า “ชาฝรั่ง” เช่น ดาร์จิลิง เอิร์ลเกรย์ และอิงลิชเบรคฟาสต์
5) ชาแต่งกลิ่น และชาสมุนไพร
มักนำชาดำมาแต่งเติมด้วยกลิ่นผลไม้ หรือดอกไม้ บางทีก็เติมน้ำตาล หรือชาที่ทำจากผลไม้และดอกไม้แห้ง 100% เช่น เก๊กฮวย ตะไคร้ กระเจี๊ยบ ใบหม่อน